จับตา “จัดเก็บภาษีความเค็ม”ขนมขบเคี้ยว เพิ่มทางเลือกสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค NCDs โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภค - Today Updatenews

Breaking

Home Top Ad

Post Top Ad

วันอังคารที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2568

จับตา “จัดเก็บภาษีความเค็ม”ขนมขบเคี้ยว เพิ่มทางเลือกสุขภาพ ลดเสี่ยงโรค NCDs โดย รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภค

 


จากกรณีที่กรมสรรพสามิตมีแผนที่จะจัดเก็บภาษีความเค็มเนื่องจากคนไทยติดการบริโภคเค็มมากเกินไป โดยเริ่มจากสินค้าขนมขบเคี้ยวก่อน ซึ่งจะมีความชัดเจนในปี 2568 นี้ 
โดยกลุ่มขนมขบเคี้ยวจะถูกเก็บตามปริมาณโซเดียมต่อผลิตภัณฑ์ในอัตราภาษีแบบขั้นบันได โดยหวังให้ประชาชนบริโภคความเค็มลดน้อยลง โดยจะดำเนินการจัดเก็บภาษีความเค็มในรูปแบบเดียวกับภาษีความหวานซึ่งบังคับใช้ในประเทศไทยก่อนหน้านี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและส่งผลให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลลงชัดเจน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการธุรกิจ โดยรัฐตั้งเป้าหมายให้คนไทยลดการบริโภคเค็มให้ได้ร้อยละ 30 โดยก่อนหน้านี้ทางกระทรวงการคลังได้มีนโยบายและมอบหมายให้กรมสรรพสามิตไปศึกษาเรื่องกลไกการเก็บภาษีความเค็มในบางสินค้าที่มีอยู่ โดยเฉพาะการควบคุมสินค้าประเภทขนมขบเคี้ยว ซึ่งเป็นสินค้าที่ไม่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเป้าหมายหลัก ๆ ของกระทรวงการคลังต้องการจะดูแลเรื่องสุขภาพของคนไทย ซึ่งจากข้อมูล 10 ปีที่ผ่านมา คนไทยก็ยังบริโภคเค็ม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขก็มีนโยบายเป็นหลักยุทธศาสตร์ที่จะพยายามให้คนไทยลดการบริโภคเค็มลง


สอดคล้องกับ นพ.กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การลดโรค NCDs เป็นภาระงานและความท้าทายสำคัญของระบบสาธารณสุข มีคนไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs กว่า 400,000 คนต่อปี รัฐต้องสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งในปี 2568 มีสโลแกน “กรมควบคุมโรคห่วงใย อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพดี” มุ่งสนับสนุนกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) นำนวัตกรรมเครื่องวัดความเค็ม(Salt Meter) ขยายผลสร้างความตระหนักและควบคุมปริมาณโซเดียมในการปรุงอาหารของครัวเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ทำงานทั่วประเทศ เป็นแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังและลดการบริโภคเกลือและโซเดียมระดับจังหวัด รวมถึงกำหนดปริมาณเกลือและโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูป ผลักดันมาตรการภาษีโซเดียม มุ่งเป้าให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพดี ห่างไกลโรค NCDs ด้วยการลดการกินเค็ม ลดเกลือและโซเดียมเกินกำหนด สอดรับ 1 ใน 9 เป้าหมายลด NCDs ระดับโลก (9 global targets for noncommunicable diseases for 2025)

“จากข้อมูลพบว่าคนไทยได้รับโซเดียมจากการกินอาหาร 4,351.69 มิลลิกรัมต่อคนต่อวัน สูงกว่าเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอยู่ที่ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบเท่าเกลือ ช้อนชา ที่สำคัญยังพบว่า คนไทยป่วยด้วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม เช่น โรคความดันโลหิตสูง ไต หัวใจและหลอดเลือดสมองกว่า 22 ล้านคน ซึ่งคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ภายในปี 2568 ไทยควรจะต้องทำให้ประชาชนลดการบริโภคเกลือและโซเดียมลง 30% โดยจะต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดเกลือและโซเดียม สร้างความรู้สร้างความตระหนักแก่ผู้บริโภค การปรับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และผลักดันให้เป็นรูปธรรมเพื่อบรรลุเป้าหมายประชาชนมีสุขภาพดี”


รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า 
เราควรให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ซึ่งมีสาเหตุสำคัญจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมและเกินความพอดี ส่งผลทำให้ตัวเลขของผู้ป่วยด้วยเพิ่มขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต โรคหลอดเลือดสมอง พบว่าคนไทยมากกว่า 22 ล้านคน ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับการบริโภคโซเดียม ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทเลยทีเดียว และทางกระทรวงสาธารณสุขมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ คิดเป็นร้อยละ 52 ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กไทยกินเกลือโซเดียมเกินความต้องการ และมีอุบัติการณ์ของภาวะความดันโลหิตสูงถึง 10 % ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการกินขนมกรุบกรอบและอาหารสำเร็จรูปมาก ดังนั้นภาครัฐจึงรณรงค์เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภคของคนไทย ในขณะที่ภาคเอกชนสามารถมีส่วนร่วมสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพประชาชนมากขึ้น


โดยที่ผ่านมาเครือข่ายลดบริโภคเค็มและองค์กรพันธมิตร รณรงค์และให้ความรู้ เผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลมีเดียและสื่อสารมวลชนทุกแขนงในด้านโภชนาการเพื่อให้ผู้บริโภคบริโภคโซเดียมลดลง สนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรม ส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโซเดียมต่ำ เครื่องตรวจวัดความเค็ม (Salt Meter) และการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบของการบริโภคโซเดียมต่อสุขภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือ (โรงเรียน ชุมชน โรงพยาบาล และองค์กรเอกชน) เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชาชน รวมทั้งประสานความร่วมมือกับผู้ผลิตอาหารในการลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป ช่วยให้แต่ละคนสามารถปรับลิ้นให้คุ้นเคยรสชาติที่เปลี่ยนไปได้เมื่อเวลาผ่านไป หรือเป็นนิสัยที่ เค็มน้อยอร่อยได้” ซึ่งนําไปสู่การควบคุมการบริโภคเกลือและความดันโลหิตที่ดีขึ้นภายในชุมชนอย่างยั่งยืน

              


การปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์อาหารให้มีโซเดียมลดลงเป็นมาตรการที่สามารถลดการเสียชีวิตจากโรค NCDs ได้ดี โดยมีค่าใช้จ่ายจากฝั่งภาครัฐน้อยและให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิผล ซึ่งหนึ่งในวิธีหรือมาตรการที่จะกระตุ้นภาคอุตสาหกรรมให้ปรับเปลี่ยนสูตรผลิตภัณฑ์อาหารให้มีความเค็มน้อยลง คือการใช้มาตรการทางภาษีและราคาโดยมีประเทศที่ได้ดำเนินมาตรการภาษีเกลือและประสบความสำเร็จ คือ ประเทศฮังการี ซึ่งผลของการดำเนินงานแสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนสูตรอาหารของภาคอุตสาหกรรม และการลดการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเกลือสูง นอกจากนี้มีหลายประเทศที่ได้มีการวิเคราะห์และคาดการณ์ผลกระทบด้านสุขภาพหากมีการนำมาตรการภาษีเกลือและโซเดียมมาปฏิบัติใช้ ซึ่งทุกการศึกษาชี้ให้เห็นผลกระทบเชิงบวกทั้งด้านสุขภาพ และความคุ้มค่าในการดำเนินมาตรการ


การมีเกณฑ์สำหรับภาษีความเค็มในประเทศไทยที่ทางกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับกรมสรรพสามิต ในการที่จะพิจารณาในการจัดเก็บ ทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ ซึ่งเป้าหมายตอนนี้ไม่ใช่เรื่องของรายได้ แต่เน้นเรื่องสุขภาพของคนไทย หากมีการเก็บภาษีความเค็มจริง จะเก็บเฉพาะสินค้าที่มีปริมาณโซเดียมสูงเกินเกณฑ์ที่กำหนดเท่านั้น เช่น สินค้าประเภทขนมขบเคี้ยวที่มีรสเค็ม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และโจ๊กสำเร็จรูป ดังนั้นผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นไปที่การปรับสารอาหารให้มีปริมาณโซเดียมน้อยลงหรือใช้เกลือโซเดียมต่ำแทน อย่างไรก็ตามสินค้าในบางประเภท เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มีข้อจำกัดในแง่ของการปรับราคา ซึ่งผู้ประกอบการเองจะต้องปรับกลยุทธ์ทางการตลาด เพราะว่าตอนนี้คนไทยรักสุขภาพมากขึ้นและหันมาบริโภคสินค้าที่ดูแลสุขภาพมากขึ้นโดยปรับสูตรอาหารเพื่อลดบริโภคเค็มลงหรือโซเดียมลดลง ซึ่งเมื่อปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์ลดต่ำลงในระดับที่เหมาะสมปลอดภัย ผลิตภัณฑ์นั้นก็จะไม่ถูกเก็บภาษี ทำให้ราคาสินค้าคงเดิมและยังลดต้นทุนในการใช้เกลือโซเดียมอีกด้วย มาตรการภาษีนี้จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคหันมานิยมอาหารโซเดียมต่ำ เค็มน้อยและดีต่อสุขภาพในระยะยาว ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ โดยเราจะต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ให้เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารตามไปด้วย รวมถึงต้องให้ความรู้ความเสี่ยงในการบริโภคโซเดียมมากเกินไปด้วย

ในส่วนของกลุ่มตลาดอาหารขนมขบเคี้ยว ประกอบด้วย มันฝรั่งทอด ขนมขึ้นรูป และขนมที่ทำมาจากเนื้อปลา สาหร่าย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการของขนมสาหร่ายรายใหญ่ มีการปรับลดโซเดียมลงได้ร้อยละ 50 หรืออีกกลุ่มคือ มันฝรั่งทอดรายใหญ่ ก็ลดโซเดียมลงถึงร้อยละ 30 ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad