ทันทีที่มีข่าว “อัยการ สำนักงานคดีพิเศษ มีความเห็น สั่งฟ้อง บริษัทดิไอคอนกรุ๊ป กับ 16 บอส รวม 5 ข้อหา ส่วน "บอสแซม-บอสมิน" มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเพราะไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ
คำถามที่ตามมา คือ “ ใครจะต้องรับผิดชอบ กรณี บอสแซม กับ บอสมีน ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำ เกือบ 84 วัน” และ “ บอสแซม กับ บอสมีน จะได้รับการชดเชยเยียวหรือไม่ อย่างไร?”
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจขั้นตอนตามกฎหมายที่จะเกิดขึ้นภายหลัง พนักงานอัยการ มีความเห็น “ สั่งไม่ฟ้อง ” ผู้ต้องหา
ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2563 ข้อ
ข้อ 83 – การปล่อยตัวผู้ต้องหาที่สั่งไม่ฟ้อง ถ้าผู้ต้องหาถูกควบคุม หรือ ขังอยู่ เมื่อพนักงาน อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว ให้พนักงานอัยการ “สั่งปล่อย” หรือ “ขอให้ศาลสั่งปล่อย” ผู้ต้องหาไป แล้วแต่กรณี
แต่เมื่อพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 ได้บัญญัติขั้นตอน การดำเนินการไว้ดังนี้
“มาตรา 145 ในกรณีที่มี คำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งนั้นไม่ใช่ของ “อัยการสูงสุด” ถ้าใน
กรุงเทพมหานคร ให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมคำสั่งไปเสนอ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”
แต่ถ้าในจังหวัดอื่นให้รีบส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมกับคำสั่งไปเสนอ “ ผู้ว่าราชการจังหวัด”
ในกรณีที่ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด แย้งคำสั่งของพนักงานอัยการ ให้ส่งสำนวนพร้อมกับความเห็นที่แย้งกันไปยัง “อัยการสูงสุด” เพื่อชี้ขาด
จะเห็นได้ว่า เมื่อ “ พนักงานอัยการ” มีคำสั่ง “ ไม่ฟ้อง ” ผู้ต้องหา กฎหมายได้กำหนดขั้นตอนให้ พนักงานอัยการ จะต้อง เสนอสำนวนและความเห็นที่ อัยการสั่งไม่ฟ้อง ไปยัง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (กรณีกรุงเทพมหานคร) และเสนอสำนวนและความเห็นไปยัง “ ผู้ว่าราชการจังหวัด” (กรณีต่างจังหวัด)
ดังนั้น คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ จึงยังไม่เด็ดขาด หรือถึงที่สุด กฎหมายต้องการให้มีการ ตรวจสอบ ถ่วงดุล คำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ โดยให้ “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” และ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” พิจารณาอีกครั้ง
หาก “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” หรือ “ ผู้ว่าราชการจังหวัด” เห็นชอบ ไม่แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ คำสั่งไม่ฟ้องของ พนักงานอัยการ ก็ “ เด็ดขาด” หรือ “ ถึงที่สุด ”
แต่ถ้า “ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” หรือ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เห็นแย้ง หรือ แย้งคำสั่ง ไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ “ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” หรือ “ผู้ว่าราชการจังหวัด” จะต้องเสนอสำนวนและความเห็นคำสั่ง “แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ” ไปยัง “ อัยการสูงสุด” เพื่อ ชี้ขาด
คำสั่ง อัยการสูงสุด ไม่ว่าจะมีความเห็น “ เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับคำสั่ง “ แย้งคำสั่ง ไม่ฟ้อง ”ของ“ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” หรือ “ผู้ว่าราชการจังหวัด”
คำสั่งของ “ อัยการสูงสุด” จึงเป็น “ เด็ดขาด” ต้องปฏิบัติตามนั้น
“สั่งฟ้องผู้ต้องหาตามความเห็นแย้งของพนักงานสอบสวน”
หรือ “ สั่งไม่ฟ้อง ตามความเห็นของพนักงานอัยการ”
กรณี “บอสแซม” และ “บอสมีน” ก็เข่นกัน เมื่อ พนักงานอัยการสำนักงานคดีพิเศษ “สั่งไม่ฟ้อง” บอสแซม และ บอสมีน แล้ว พนักงานอัยการคดีพิเศษ ก็จะส่งสำนวนความเห็นคำสั่ง ไม่ฟ้องดังกล่าวไปให้ “ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ” หรือ DSI ( เนื่องจากคดีนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI รับเป็นคดีพิเศษเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ) พิจารณาว่า จะมีความเห็นแย้งในคำสั่งไม่ฟ้องหรือไม่
แต่เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของ “ผู้ต้องหา” ที่ พนักงานอัยการ มีคำสั่ง “ไม่ฟ้อง” พนักงานอัยการก็จะมีคำสั่ง “ปล่อยตัวต้องหาทั้ง 2 คน” (บอสแซม และบอสมีน) โดยยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 คน โดยไม่จำต้องรอว่า อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะมีความเห็นและคำสั่งแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของอัยการคดีพิเศษหรือไม่ ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดฯดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หากต่อมา อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เกิดเห็น “แย้งคำสั่งไม่ฟ้อง”ของ “ พนักงานอัยการคดีพิเศษ” ก็จะต้องส่งสำนวนและความเห็น “แย้ง” ไปยัง “ อัยการสูงสุด” เพื่อพิจารณาสั่งต่อไป
จะเห็นได้ว่า แม้ พนักงานอัยการคดีพิเศษ จะมีคำสั่งไม่ฟ้องและมีคำสั่งปล่อยตัว บอสแซม และบอสมีน ไปแล้ว ( ซึ่งคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า คดีเด็ดขาดแล้ว ผู้ต้องหาพ้นผิดไปแล้ว ซึ่งความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ ) ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า คดียังคงต้องเสนอไปยัง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เพื่อพิจารณาอีก รวมทั้ง อาจต้องเสนอไปยัง “ อัยการสูงสุด” เพื่อชี้ขาด กรณี อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI มีคำสั่งแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ
ในคดีอาญา ผู้ต้องหา หรือ จำเลย จะพ้นผิด หรือ พ้นความรับผิดไปได้ก็ต่อเมื่อ
1. พนักงานอัยการ มีคำสั่งไม่ฟ้อง และคำสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว “ เด็ดขาด” หรือ “ถึงที่สุด”แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิพิจารณาความอาญา มาตรา 145 , 145/1
2. ศาลมีคำพิพากษา “ ยกฟ้อง” และ คำพิพากษาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ( คดีถึงที่สุดเมื่อ พ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ หรือ ฎีกา และ/หรือ ไม่ได้รับอนุญาตจากศาลให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ หรือ ฎีกา (แล้วแต่กรณี)
การที่ “ผู้ต้องหา หรือ จำเลยในคดีอาญา”ต้องถูก “รัฐ” ดำเนินคดีอาญาเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ทั้งที่ ไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอให้ศาลรับฟังจนปราศจากข้อสงสัยจนเป็นเหตุให้ศาล “ยกฟ้อง” ต้องสูญเสียอิสรภาพ ถูกจองจำ ถูกบันทึกประวัติอาชญากรรม แต่สุดท้าย พนักงานอัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง หรือ ศาลพิพากษา ยกฟ้อง ผู้ต้องหา หรือ จำเลยในคดีอาญาดังกล่าวจะมีสิทธิได้รับค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา หรือไม่อย่างไรบ้าง ?
พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544(และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559)
มาตรา 20 “จำเลย” ที่มีสิทธิได้รับค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายตามพระราชบัญญัตินี้ต้อง
(1) เป็น จำเลยที่ถูกดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ
(2) ถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี และ
(3) ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด และ มีการถอนฟ้องใน
ระหว่างดำเนินคดี หรือ ปรากฏตามคำพิพากษาอันถึงที่สุดในคดีนั้นว่า ข้อเท็จจริง
ฟังเป็นยุติว่า จำเลยมิได้เป็นผู้กระทำความผิด หรือ การกระทำของจำเลยไม่เป็น
ความผิด
มาตรา 3 ได้กำหนด บทนิยาม
“ผู้เสียหาย” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิตหรือร่างกายหรือจิตใจ เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาของผู้อื่น โดยตนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดนั้น
“จำเลย” หมายความว่า บุคคลซึ่งถูกฟ้องต่อศาลว่าได้กระทำผิดความอาญา
จากบทกฎหมายดังกล่าว มีข้อสังเกตว่า
1.ต้อง ถูกฟ้องคดี (โดย พนักงานอัยการ) ว่าได้กระทำผิดอาญา ต่อศาลแล้ว
2. ถูกคุมขังในระหว่างการดำเนินคดี
3.ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด หรือ มีการถอนฟ้องในระหว่างดำเนินคดี
แต่ การที่ศาลพิพากษา “ยกฟ้อง” ด้วยเหตุ “ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมี ข้อสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองนั้น ไม่ใช่ เป็นกรณีที่ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด หรือการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด อันมีผลทำให้ไม่เข้าเงื่อนไขตามกฎหมายในอันที่จะทำให้จำเลยในคดีอาญาดังกล่าว (แม้จะเป็นการถูกฟ้องโดยพนักงานอัยการก็ตาม) ได้รับเงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ตามกฎหมายฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด
กรณี บอสแซม และบอสมีน จึงเป็นเพียง “ผู้ต้องหาที่ 17 และที่ 18” ในสำนวนคดี ดิไอคอนกรุ๊ป เท่านั้น ยังไม่ได้ถูกฟ้องเป็น “ จำเลย” ต่อศาล จึงยังไม่ใช่ “ จำเลย” ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา ตาม พระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหาย และค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 แต่อย่างใด
แต่การที่ บอสแซม และบอสมีน ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเป็นเวลา 84 วัน เกิดจาก กระบวนการควบคุมตัวในระหว่างการสอบสวน ( ขังในระหว่างสอบสวน ) ซึ่งสามารถจะกระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84
“ ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน”
การที่ผู้ต้องหา จะได้รับการประกันตัว หรือปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและเป็น “ดุลพินิจของศาล” ในการพิจารณา อนุญาต หรือ ไม่อนุญาตให้ประกัน หรือปล่อยตัวชั่วคราว อาทิเช่น ความร้ายแรงแห่งคดี พฤติกรรมแห่งคดี มูลค่าความเสียหาย มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไม่ หากปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไม่ ความน่าเชื่อถือของหลักทรัพย์ เป็นต้น
การควบคุมตัวผู้ต้องหาในระหว่างการสอบสวน จึงเป็นดุลยภาค ระหว่าง “ เสรีภาพของผู้ต้องหา” กับ “ การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม”
หาก “ศาล” เลือกที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคมมากเกินไป ก็อาจจะกระทบต่อสิทธิ และเสรีภาพของผู้ต้องหา ที่กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็น ผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาว่า เขาเป็นผู้กระทำผิด
และหากศาลเลือกที่จะ คุ้มครองเสรีภาพของผู้ต้องหา มากเกินไป สังคมบ้านเมืองก็อาจไม่สงบสุข ผู้ต้องหาหลบหนี ผู้กระทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ
ผู้เขียนเห็นว่า “การไม่ผลักประชาชนให้เข้าไปสู่ การเป็นผู้ต้องหา จนกว่า จะมีพยานหลักฐานแน่ชัดว่า เขาเป็นผู้กระทำผิด การกระทำของเขาเป็นความผิด และไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด หรือ ไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ”
โดยเริ่มจาก กระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน “ จะต้องยังไม่แจ้งข้อหาแก่ใครจนกว่า จะมีพยานหลักฐานแน่ชัดว่า เขาเป็นผู้กระทำผิด ทั้งนี้ เพราะ หากมีการแจ้งข้อหา เขาจะตกเป็น “ผู้ต้องหา” ทันที และ ผู้ต้องหาจะถูกต้องควบคุมตัวในระหว่างการสอบสวน เว้นแต่จะมีประกัน หรือได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หากผู้ต้องหาไม่ได้รับการประกันตัว หรือปล่อยตัวชั่วคราวก็จะต้องถูกควบคุมตัว และมีการฝากขังต่อศาล และถูกควบคุมตัวในเรือนจำจนกว่าจะพิจารณาคดีแล้วเสร็จ หรือได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว หรือ ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง
การควบคุมตัวผู้ต้องหาระหว่างการสอบสวน โดย “ฝากขังต่อศาล” และให้ศาลใช้ดุลพินิจในการควบคุมตัวหรือปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวนจึงเป็นปลายเหตุ ส่วนต้นเหตุควรจะต้องเริ่มตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน ที่จะต้องไม่แจ้งข้อหาแก่ บุคคลใด จนกว่า จะมีพยานหลักฐานแน่ชัดว่า จำเลยเป็นผู้กระทำผิด
ฉะนั้น การรักษา “ ดุลยภาค ระหว่าง “ เสรีภาพของผู้ต้องหา” กับ “ การรักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม”ให้สมดุล จึงเป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องการ
กรณี “บอสแซม” และ “บอสมีน” จึงเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ
• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
• อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
• (อดีต) รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ 25
20 มกราคม 2568
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น