26-7-67. นายประพล ฐานะโชติพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ” หรือ “TMAN”) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจผลิต และ/หรือจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพชั้นนำของประเทศไทย ที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมยากว่า 50 ปี ด้วยวิสัยทัศน์ “มุ่งมั่นขับเคลื่อนนวัตกรรมสุขภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน” และการนำเสนอนวัตกรรมเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้กับผู้บริโภคทุกวัย ผ่านการคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและได้รับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล ด้วยเทคโนโลยีทันสมัยภายในโรงงานของกลุ่มบริษัทฯ พร้อมวางเป้าหมายก้าวสู่ผู้นำนวัตกรรมสุขภาพ ที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผลิตและ/หรือจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ 2.รับจ้างผลิตเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก (OEM/ODM) และ 3.จัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ของกลุ่มบริษัทฯ เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ยาแผนปัจจุบัน ภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ และแบรนด์ของบุคคลภายนอก เช่น Myda Series กลุ่มยารักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา 2.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้แก่ ยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ และแบรนด์ของบุคคลภายนอก เช่น Propoliz Series กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลและช่วยบรรเทาอาการทางช่องปากและลำคอ 3.ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง โดยมีกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ครอบคลุมผู้บริโภคทุกช่วงวัย ภายใต้แบรนด์ของกลุ่มบริษัทฯ และแบรนด์ของบุคคลภายนอก ได้แก่ 1) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เช่น Vita-C Series ผลิตภัณฑ์เสริมวิตามินซี และ 2) เครื่องสำอาง เช่น Nevtral cream ครีมบำรุงผิว สำหรับผื่น แพ้ คัน 4.ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพอื่นๆ ได้แก่ 1) อุปกรณ์และวัสดุทางการแพทย์ เช่น Dr.Temp Series แผ่นเจลลดไข้ และ 2) สินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อดูแลสุขภาพทั่วไปทุกช่วงวัย เช่น Polar Series สเปรย์ปรับอากาศ ผลิตภัณฑ์โฟมล้างมือ ผสม แอคทีฟ โพลาร์
ขณะที่แนวโน้มการจำหน่ายยาในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2566 – 2568 คาดว่ามูลค่าจำหน่ายยาจะเติบโตเฉลี่ยที่ ร้อยละ 5.0 – ร้อยละ 6.0 ต่อปี อ้างอิงจาก Krungsri Research โดยมีปัจจัยจากทิศทางของเศรษฐกิจฟื้นตัว ผู้ป่วยต่างชาติกลับมาใช้บริการมากขึ้น ตลอดจนการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน ทำให้ความต้องการบริโภคยาเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ามูลค่าการจำหน่ายยาผ่านโรงพยาบาลจะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.3 ต่อปี ส่วนมูลค่าการจำหน่ายผ่านร้านขายยา (OTC) จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.0 ต่อปี นอกจากนี้ ข้อมูลการคาดการณ์จาก Euromonitor อุตสากรรมสุขภาพยังได้รับปัจจัยบวกจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใส่ใจดูแลสุขภาพ มลภาวะที่เพิ่มขึ้น และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ คาดว่าจะสนับสนุนตลาดวิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Vitamins and Dietary Supplements) เติบโตเฉลี่ยร้อยละ 8.4 ต่อปี ในช่วงปี 2564 – 2568
นายตรัส อบสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่สายงานปฏิบัติการ TMAN กล่าวว่า กลุ่มบริษัทฯ วางกลยุทธ์ขับเคลื่อนการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่ 1) มุ่งเน้นสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและได้รับการยอมรับ 2) ขยายฐานลูกค้ากลุ่มลูกค้าโรงพยาบาล ห่วงโซ่ขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมยา 3) พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและมีคุณภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน 4) เพิ่มสัดส่วนธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM/ODM) 5) เพิ่มสัดส่วนธุรกิจรับจัดจำหน่าย 6) เพิ่มการเติบโตของรายได้จากการขยายการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในต่างประเทศ 7) สรรหาบุคลากรสำคัญที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อรองรับการดำเนินงานในอนาคต 8) ขยายกำลังการผลิตและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
จากการที่บริษัทฯ มุ่งมั่นคิดค้น วิจัยและพัฒนาเวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพนวัตกรรมด้านสุขภาพใหม่ต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2567 เป็นเจ้าของแบรนด์เวชภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ และนำเข้าภายใต้แบรนด์ของบุคคลภายนอก 17 แบรนด์ รวมทั้งสิ้นกว่า 825 ผลิตภัณฑ์ (SKUs) ส่งผลให้ปี 2564 – 2566 มีรายได้จากการขาย 1,259.9 ล้านบาท 2,016.6 ล้านบาท 1,972.2 ล้านบาทตามลำดับ และกำไรสุทธิ 56.4 ล้านบาท 472.5 ล้านบาท และ 431.1 ล้านบาทตามลำดับ เติบโตเฉลี่ย 176.5% ต่อปีส่วนไตรมาส 1/2566 และไตรมาส 1/2567 มีรายได้จากการขาย 503.8 ล้านบาท และ 587.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 และมีกำไรสุทธิ 135.4 ล้านบาท และ 139.5 ล้านบาท ตามลำดับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 ตอกย้ำความแข็งแกร่งผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทฯ
แผนการลงทุนรองรับการเติบโตในอนาคต คาดว่าใช้งบลงทุนรวมไม่เกิน 777.5 ล้านบาท แยกเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง และ/หรือติดตั้งเครื่องจักรจำนวน 8 โครงการ ซึ่งมีมูลค่าเงินลงทุนรวมโดยประมาณไม่เกิน 298.5 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตกลุ่มยาแผนปัจจุบัน โดยลงทุนติดตั้งเครื่องจักร รวมถึงระบบที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตยาแผนปัจจุบันประเภท เม็ด น้ำ และครีม 2) โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยฯ ลงทุนซื้อเครื่องจักรสำหรับการบรรจุผลิตภัณฑ์สมุนไพรลงบรรจุภัณฑ์ 3) โครงการขยายส่วนงานวิจัยและพัฒนา 4) โครงการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 5) โครงการขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยการลงทุนซื้อเครื่องจักรดังกล่าวจะช่วยให้กลุ่มบริษัทฯ สามารถผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทรูปแบบของแข็ง (Solid Dosage Form) 6) โครงการพัฒนาระบบงานขายบนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ 7) โครงการซื้อเครื่องมือควบคุมคุณภาพการผลิตกลุ่มยาแผนปัจจุบัน และ 8) โครงการซื้อเครื่องมือควบคุมคุณภาพการผลิตกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและปรับปรุงพื้นที่เพื่อติดตั้งเครื่องจักรสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารแบบน้ำ
ส่วนโครงการลงทุนในอนาคตจำนวน 5 โครงการ โดย 1 โครงการเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study) โครงการดังกล่าวมีมูลค่าเงินลงทุนรวมโดยประมาณไม่เกิน 479.0 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ 2) โครงการขยายกำลังการผลิตกลุ่มยาแผนปัจจุบันครั้งที่ 1 โดยลงทุนปรับปรุงอาคารของโรงงานผลิต รวมถึงติดตั้งเครื่องจักร และระบบต่าง ๆ สำหรับการทดลองผลิตผลิตภัณฑ์ตัวอย่างและผลิตภัณฑ์รูปแบบของแข็ง (Solid Dosage Form) 3) โครงการลงทุนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) 4) โครงการปรับปรุงพื้นที่การผลิตยาแผนปัจจุบัน โดยจะลงทุนปรับปรุงพื้นที่เก็บยา ปรับปรุงอาคารสำหรับการจัดเก็บวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ และปรับปรุงพื้นที่ตามสายการผลิต 5) โครงการขยายกำลังการผลิตกลุ่มยาแผนปัจจุบันครั้งที่ 2 โดยโครงการดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility Study)
นายทินพันธุ์ หวั่งหลี รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า หลังจาก บมจ.ที.แมน ฟาร์มาซูติคอล’ หรือ TMAN ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (แบบไฟลิ่ง) และแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวนไม่เกิน 102 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.75 บาท คิดเป็นไม่เกินร้อยละ 25.5 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ แบ่งเป็น 1) หุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 71,430,000 หุ้น และ 2) หุ้นสามัญโดยผู้ถือหุ้นเดิมจำนวนไม่เกิน 30,570,000 หุ้น โดยมีวัตถุประสงค์นำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของเงินทุนสำหรับ 1) ใช้เป็นเงินทุนในการขยายกำลังการผลิต และ/หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต หรือการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ และ 2) ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อชำระคืนเงินกู้ยืม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น