กรุงเทพฯ, 31 กรกฎาคม 2567 Sinergia Animal (ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล) องค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับนานาชาติจากบราซิล ระดมนักกิจกรรมกว่า 44 ชีวิตจาก 6 ประเทศ ได้แก่ บราซิล อาร์เจนตินา โคลอมเบีย ชิลี อินโดนีเซีย และประเทศไทย ร่วมรณรงค์เชิงสัญลักษณ์ ณ ลานคนเมือง ใจกลางกรุงเทพฯ แสดงจุดยืนเพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้สัตว์ในระบบผลิตอาหาร เผยความจริงอันโหดร้ายที่สัตว์ฟาร์มต้องเผชิญพร้อมสร้างความตระหนักรู้และส่งเสริมให้ประชาชนเลือกบริโภคอาหารอย่างมีความเห็นอกเห็นใจและมีเมตตาสัตว์ต่างๆ ในกลุ่มประเทศ Global South อย่างประเทศไทย
คุณแคโรลิน่า กาลวานี (Carolina Galvani) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์จากบราซิล ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Sinergia Animal เปิดเผยว่ากิจกรรมในครั้งนี้จะช่วยย้ำเตือนให้ทุกคนตระหนักว่าความทุกข์ของสัตว์ในฟาร์มนั้นไม่มีพรมแดน เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนัก และมีความรับผิดชอบร่วมกัน โดยไม่มองข้ามข้อเท็จจริงของระบบการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิดในอุตสาหกรรมอาหารและหันมาเลือกบริโภคอาหารที่มีเมตตากว่า ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล เรียกร้องให้มีมนุษยธรรมกับสัตว์ในระบบผลิตอาหารและเปลี่ยนแปลงระบบการเลี้ยงให้มีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น มากกว่าการคำนึงถึงเป้าหมายความสำเร็จทางธุรกิจเป็นสำคัญ
“ดิฉันรู้สึกประทับใจในความพยายามของทุกภาคส่วน ที่ร่วมกันเป็นกระบอกเสียงในการเรียกร้องความสนใจต่อชะตากรรมของสัตว์ในฟาร์มที่มากกว่าแค่สัตว์ในบราซิล โดยเฉพาะสัตว์ในประเทศไทย และในกลุ่มประเทศ Global South การขยายกิจกรรมมายังประเทศไทยแสดงถึงความมุ่งมั่นของเราในการแก้ไขปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ในระดับโลก เรามุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมการเลือกรับประทานอาหารอย่างมีเมตตาและยั่งยืน”
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ผลิตไข่ไก่มากที่สุดในเอเชีย ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศ อย่างไรก็ตามการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมาพร้อมกับความทุกข์ของแม่ไก่นับล้านที่ต้องใช้ชีวิตในกรง จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะต้องแน่ใจว่าวิธีที่ใช้ในการผลิตอาหารนั้นมีมนุษยธรรมและมีจริยธรรมโดยคำนึงถึง คน สัตว์ และสาธารณสุข
สิ่งที่ Sinergia Animal มีเป้าหมายที่จะดำเนินการให้ถึงเป้าหมายสูงสุด คือ การเชิญชวนบริษัทและผู้ผลิตทั่วประเทศไทยให้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยใช้แนวทางปฏิบัติในการปรับปรุงสวัสดิภาพสัตว์ อาทิ การเลี้ยงไก่แบบไร้กรงขัง เพื่อให้แม่ไก่ได้สามารถแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ตามธรรมชาติ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไม่แออัด ซึ่งเป้าหมายแห่งความสำเร็จคือการเป็นผู้นำทางความคิด และเป็นตัวอย่างให้บริษัทอื่นปฏิบัติตามในการสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีมนุษยธรรมมากขึ้น ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงแหล่งที่มาของอาหารมากขึ้น และมีความต้องการผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติที่มีมนุษยธรรมและยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น การเปิดตลาดเพื่อรองรับไข่แบบไร้กรง (Cage-free eggs) ของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกต่างๆ หรือแม้แต่ในกลุ่มผู้ผลิตอาหารทุกประเภท ไม่เพียงช่วยเพิ่มชื่อเสียงของแบรนด์ แต่ยังช่วยให้อุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศมีอนาคตที่สดใสยิ่งขึ้นอีกด้วย
“เรามาที่นี่ในวันนี้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนลงมือทำและแสดงให้เห็นว่าทุกการตัดสินใจของเรานั้นส่งผลกระทบต่อชีวิตในทุกมิติ ขณะเดียวกันเราก็เร่งเดินหน้าบรรเทาความทุกข์ของสัตว์ในกระบวนการผลิตอาหาร เพื่อลด ละ เลิก การบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ โดยการสนับสนุนให้เกิดการเลือกกินอาหารที่ไร้เนื้อสัตว์ หันมาบริโภคอาหารจากพืช (Plant-based diet) ที่กำลังได้รับความสนใจและมีพัฒนาการที่ดีในวงการผลิตอาหาร ซึ่งอาหารจากกลุ่มที่ทำจากพืชนี้ สามารถรังสรรค์ให้มีลักษณะใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์ รวมถึงมีคุณค่าทางโภชนากรสูงเทียบเท่ากับการบริโภคเนื้อสัตว์ตามความต้องการในแต่ละมื้อ ซึ่งถือว่าเป็นหมุดหมายที่ดีของการเริ่มต้น และ อาหารจากพืชนี้ กำลังได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก ดังนั้นเมื่อทุกภาคส่วนร่วมมือกัน เราก็จะสามารถสร้างอนาคตที่จะทำให้สัตว์ได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรม เพื่อโลกที่ไม่มีใครถูกทำร้ายในการผลิตอาหาร” คุณแคโรลิน่า กล่าวทิ้งท้าย
ขอเชิญชวนทุกท่านร่วมเป็นพลังในการขับเคลื่อนและเป็นส่วนหนี่งของการเคลื่อนไหวนี้ได้โดยไปที่เว็บไซต์และลงทะเบียนเพื่อรับข้อมูลอัปเดตหรือเป็นอาสาสมัครได้ที่ www.sinergiaanimalthailand.org
หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook : Sinergia Animal Thailand
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น