บมจ. เทอร์ราไบท์ พลัส หรือ TERA ประสบความสำเร็จ ปิดจองซื้อหุ้น IPO จำนวน 90 ล้านหุ้น นักลงทุนให้ความสนใจล้นหลาม พร้อมลงกระดานเทรดตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 24 เม.ย. นี้ ฟาก “บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด” ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย (Lead Underwriter) เผยผลปิดจองซื้อหุ้น นักลงทุนให้ความสนใจซื้อหุ้นเกลี้ยง แสดงถึงความมั่นใจในศักยภาพการเติบโต แถมราคาไอพีโอ 1.75 บาท เป็นราคาที่เหมาะสมด้วย P/E น่าสนใจเทียบในอุตสาหกรรมเดียวกัน ขณะที่ “บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด” หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน เผยการระดมทุนครั้งนี้เพิ่มความแข็งแกร่งด้านฐานเงินทุนและศักยภาพทางธุรกิจตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ หนุนอนาคตโตเด่น ด้าน “สุรสิทธิ์ คิวประสพศักดิ์” ซีอีโอ TERA ระบุ เปิดโอกาสให้นักลงทุนมีส่วนร่วมในการต่อยอดความสำเร็จของบริษัทไปด้วยกัน ด้วยวิชั่น เป็นหนึ่งใน IT Solution Provider ที่สำคัญของประเทศ นำเสนอโซลูชั่นไอทีที่มีคุณภาพ ให้บริการที่เป็นเลิศด้วยทีมงานมืออาชีพ
นางสาวออมสิน ศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จํากัด (มหาชน) หรือ BYD ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บริษัท เทอร์ราไบท์ พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ TERA เปิดเผยว่า หลังจากเปิดขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 90 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1.75 บาท ระหว่างวันที่ 9-11 เมษายน 2567 หุ้น TERA ได้รับความสนใจจากนักลงทุนซื้อหุ้นจำนวนมาก ภายหลังนำเสนอข้อมูล (Roadshow) ให้นักลงทุน เนื่องจากมั่นใจในพื้นฐานของบริษัทฯ ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง สอดรับกับการเป็นผู้ให้บริการด้านระบบคลาวด์ จัดจำหน่ายและให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) ขนาดใหญ่แบบครบวงจร
นางสาววีรยา ศรีวัฒนะ ผู้อำนวยการอาวุโสหัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจบริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด หรือ CGSI ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน บริษัท เทอร์ราไบท์ พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ TERA กล่าวว่า การตั้งราคาไอพีโอดังกล่าว ถือเป็นการกำหนดราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ และยังมีค่า P/E Ratio หรือราคาตลาดต่อกำไรสุทธิต่อหุ้นที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของ P/E Ratio ในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดย TERA เปิดเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 90 ล้านหุ้น คิดเป็น 37.50% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และคาดว่าจะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 24 เมษายน 2567 ในหมวดธุรกิจเทคโนโลยี (TECH)
ด้านนายสุรสิทธิ์ คิวประสพศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทอร์ราไบท์ พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ TERA กล่าวว่า TERA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตในอนาคต และการระดมทุนในครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนและประชาชนทั่วไปได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการต่อยอดความสำเร็จของ TERA ด้วยวิสัยทัศน์ขององค์กรเป็นหนึ่งใน IT Solution Provider ที่สำคัญของประเทศ นำเสนอโซลูชั่นไอทีที่มีคุณภาพ ให้บริการที่เป็นเลิศด้วยทีมงานมืออาชีพมีความเชี่ยวชาญในโซลูชั่นที่ทำเป็นอย่างดี ขยายธุรกิจด้วยการลงทุนสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านไอทีแอปพลิเคชั่น เพื่อสร้างประโยชน์ต่อลูกค้าอยู่เสมอ
สำหรับผลการดำเนินงานของ
TERA
มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากสถิติย้อนหลังปี 2564-2566 กลุ่มบริษัทฯ มีรายได้รวม 395.88 ล้านบาท
559.98 ล้านบาท และ 604.09 ล้านบาท ตามลำดับ
โดยมีกำไรสุทธิ 18.71 ล้านบาท 25.79
ล้านบาท และ 28.96 ล้านบาท ตามลำดับ
นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บริษัท เทอร์ราไบท์ พลัส จำกัด (มหาชน) หรือ TERA กล่าวว่า หลังจาก TERA เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai เชื่อว่าจะทำให้บริษัทฯ มีความพร้อมในการยกระดับความเป็นหนึ่งใน IT Solution Provider ที่นำเสนอโซลูชั่นไอทีที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากได้นำเงินจากการระดมทุนไปใช้เป็นเงินลงทุนในพัฒนาระบบ Cloud ต่างๆ เพื่อเพิ่มปริมาณการให้บริการต่อลูกค้า และด้วยผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างมั่นคง เคียงคู่กับลูกค้ามาอย่างยาวนาน
TERA ประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการด้านระบบคลาวด์ จัดจำหน่ายและให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) ขนาดใหญ่แบบครบวงจร ให้บริการแอปพลิเคชั่น ด้าน Logistics รวมถึงการลงทุนในกิจการอื่นๆ ที่ให้บริการด้านซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่นทางธุรกิจต่างๆ โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่มธุรกิจได้แก่ 1. กลุ่มธุรกิจบริการระบบเก็บข้อมูลและประมวลผลระบบสารสนเทศบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และบริการในรูปแบบสมาชิกแบบต่อเนื่อง (Cloud & Recurring Services) 2. กลุ่มธุรกิจจัดจำหน่ายโซลูชั่นและให้บริการที่เกี่ยวข้องกับระบบโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ (On-Premise Hardware & Cyber Security) 3. กลุ่มธุรกิจระบบซอฟต์แวร์บริหารจัดการ การขนส่งกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ (Transportation Management System:TMS) ภายใต้ตราสินค้า “Skyfrog” และ 4. กลุ่มธุรกิจการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น