บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เซ็นสัญญาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 2 (SP2) ขององค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย กำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ โดยมีปริมาณเสนอขายไฟฟ้า 8.0 เมกะวัตต์ กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เรียบร้อยแล้ว คาด SCOD ในปี 69 พร้อมเดินหน้าพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานขยะในประเทศ ประมาณ 4 โครงการ รุกขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์-พลังงานลมในสปป.ลาว-กัมพูชา ดันผลงานปีนี้เติบโต 10% จากปีก่อน
นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (
TPCH) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา ทางบริษัท สยาม พาวเวอร์ หนองสาหร่าย จำกัด ที่ตั้งโครงการ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (กิจการร่วมค้าของ TPCH) ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการขายไฟฟ้าจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน โดยใช้เชื้อเพลิงมูลฝอย ในปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายสูงสุด 8 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดวัน SCOD ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2569"โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน สยาม พาวเวอร์ 2 (SP2) ซึ่งดำเนินการภายใต้ บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด และ TPCH ถือหุ้นในสัดส่วน 50% โดยมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งอยู่ที่ 9.9 เมกะวัตต์ และมีปริมาณไฟฟ้าที่เสนอขาย 8 เมกะวัตต์ ซึ่งโครงการนี้มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FIT ราคาหน่วยละ 5.78 บาท (8 ปีแรก) และการเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในครั้งนี้ จะส่งผลให้บริษัทฯ มี PPA ในส่วนของโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะเพิ่มเป็น 19.4 เมกะวัตต์ จึงมั่นใจว่า จะเป็นส่วนช่วยในการสนับสนุนให้รายได้ในปีนี้เติบโตที่ระดับ 10% จากปีก่อน" นางกนกทิพย์กล่าว
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) กล่าวว่า สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานขยะ สยาม พาวเวอร์ 3 (SP3) ขององค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง ตั้งอยู่ที่ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.9 เมกะวัตต์ คาดว่า จะสามารถเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ภายในปีนี้
นอกจากนี้ ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะเพิ่มอีก ประมาณ 4 โครงการ ภายใต้บริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นโครงการรูปแบบ VSPP (Very Small Power Producer) เพื่อเข้าร่วมโครงการรับซื้อไฟฟ้าของภาครัฐ
ขณะที่ การลงทุนธุรกิจพลังงานทดแทนในต่างประเทศ บริษัทฯ ได้เข้าร่วมลงทุนกับ บริษัท แม่โขง พาวเวอร์ จํากัด (MKP) ในสัดส่วน 40% ที่ประกอบธุรกิจผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ใน สปป.ลาว และ MKP ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 100 เมกะวัตต์ กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EDL) เรียบร้อยแล้ว โดยมีระยะเวลา 25 ปีนับจากวันที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) และกำลังอยู่ในขั้นตอนปรับพื้นที่เตรียมการก่อสร้าง คาดว่า จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1/2567-2/2567 รวมทั้ง มีแผนที่จะส่งไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปจำหน่ายในประเทศเวียดนามอีกหนึ่งโครงการ
ส่วนการลงทุนในประเทศกัมพูชา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาต ทั้งโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม โดยตั้งเป้ากำลังการผลิตรวมทั้ง 2 ประเภท ประมาณ 200-300 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ TPCH ยังคงเป้าหมายมีกำลังการผลิตรวมจากโรงไฟฟ้าในประเทศ 150 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าประเภทพลังงานชีวมวล 80 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าประเภทพลังงานขยะ 70 เมกะวัตต์ และโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ 350 เมกะวัตต์ เพื่อให้มีกำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2569
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น