วันนี้ (29 กันยายน 2566) เวลา 13.00 น. นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร
พร้อมคณะให้การต้อนรับ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ น.สพ.สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ พร้อมคณะ เพื่อทำพิธีส่งมอบ
ตู้สินค้าประเภทซากสุกรของกลางลักลอบนำเข้า 161 ตู้ คดีพิเศษ ที่ 59/2566 ไปทำลาย ร่วมด้วยผู้แทนจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สมาคมผู้ประกอบการท่าเทียบเรือสินค้าและคอนเทนเนอร์และผู้ประกอบการสายเดินเรือ ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากกรมศุลกากรได้ทำการสำรวจของค้างบัญชีเรือที่อยู่ในอารักขาของศุลกากรเกินกำหนดเวลา 30 วัน โดยไม่มีใบขนสินค้าอันได้รับรอง
และไม่ได้เสียอากรหรือวางเงินประกันค่าอากรที่พึงเรียกเก็บแก่ของนั้น รวมถึงไม่มีผู้ใดมาแสดงความเป็นเจ้าของ
จึงได้ทำการเปิดสำรวจและพบว่าเป็นสินค้าประเภทสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ ซึ่งต้องได้รับอนุญาตในการนำเข้าจากกรมปศุสัตว์ ต่อมากรมศุลกากรดำเนินการจัดทำหนังสือถึงกรมปศุสัตว์แจ้งการส่งมอบซากสุกรแช่แข็ง จำนวน 161 ตู้ เพื่อให้กรมปศุสัตว์ดำเนินการทำลายตามพระราชบัญญัติ โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ระเบียบ
กรมปศุสัตว์ว่าด้วยการทำลายหรือจัดการโดยวิธีอื่นซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์ที่ถูกยึดหรืออายัดไว้ กรณีนำเข้าหรือ
นำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2559 และข้อตกลงระหว่างกรมปศุสัตว์กับกรมศุลกากร เรื่อง การปฏิบัติเกี่ยวกับกรณีที่มีการจับกุมดำเนินคดีลักลอบนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักร
นอกจากนี้ ในการดำเนินคดีอาญา กรมศุลกากรได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขอให้สืบสวนดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด ในความผิดฐานนำเข้าซึ่งสัตว์หรือซากสัตว์
โดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ต่อมา DSI รับกรณีขบวนการนำเข้าสินค้าประเภทซากสัตว์ (สุกร) เข้ามาในราชอาณาจักร เป็นคดีพิเศษ ที่ 59/2566 ซึ่งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์และ DSI ร่วมกันเปิดสำรวจตู้สินค้าตกค้างทั้งหมด 161 ตู้
แล้วเสร็จ และมีความเห็นร่วมกันในการนำของกลางสินค้าประเภทสุกรแช่แข็งทั้ง 161 ตู้ ไปทำลายตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง โดย DSI รับผิดชอบควบคุมการเคลื่อนย้ายตู้สินค้าไปทำลายตามสถานที่ที่กรมปศุสัตว์ได้จัดเตรียมไว้
อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า ในวันนี้ ( 29 กันยายน 2566) กรมศุลกากรจึงส่งมอบตู้สินค้าประเภทซากสุกรของตกค้างและของกลาง จำนวน 161 ตู้ ให้กรมปศุสัตว์ เพื่อนำไปดำเนินการทำลาย
ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป และกรมศุลกากรจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจปล่อยตู้สินค้า ทั้งตู้สินค้าชนิดทั่วไปและตู้สินค้าควบคุมอุณหภูมิ (Reefer Container) โดยหากเป็นตู้สินค้าที่เป็นของควบคุมการนำเข้าตามพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 จะมีการตรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่จากด่านกักกันสัตว์ กรมปศุสัตว์ในทุกกรณี รวมถึงได้กำชับพนักงานศุลกากรให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ทั้งนี้ หากตรวจพบความผิดเกี่ยวกับสินค้าประเภทสุกรหรือเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ให้พนักงานศุลกากรดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดและร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน โดยไม่ยินยอมให้ทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร และกรมศุลกากรพร้อมอำนวยความสะดวกและสนับสนุนพนักงานสอบสวน และบูรณาการตรวจสอบการลักลอบหรือหลีกเลี่ยงการนำเข้าเนื้อสุกรโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก
กรมปศุสัตว์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและเพื่อความปลอดภัย
ของประชาชน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น