โรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคติดต่
ออุบัติซ้ำ รวมถึงโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ปัจจุบันมีอุบัติการณ์การเกิ
ดโรค และมีแนวโน้มที่เพิ่มสูงขึ้
นในอนาคตอันใกล้ ทั้งโรค
โควิด-19 ที่เข้ามาแพร่ระบาดในหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงโรคติดเชื้อที่เคยควบคุมได้ด้วยยาปฏิชีวนะแต่เกิดการดื้อยา โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยธรรมชาติ ปัจจัยที่เกิดจากการกระทำ ของมนุษย์โดยที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ และอาจเกิดจากการจงใจกระทำให้เกิดขึ้น ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ภาคส่วน ทั้งระดับพื้นที่ ระดับชาติ และนานาชาติ จึงเกิดการเตรียมความพร้อมที่จะป้องกัน และควบคุมมิให้โรคที่เกิดขึ้นใหม่แพร่กระจายออกไปยังวงกว้าง
ในประเทศไทย เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย หรือ THOHUN (Thailand One Health University Network) เป็นอีกหนึ่งเครือข่ายที่มีความสำคัญ มีกลไกในการรับมือและควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่ได้เป็นอย่างดี รศ.ดร. แสงเดือน มูลสม ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย อธิบายถึงแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว และที่มาของเครือข่ายฯ ไว้ว่า “เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทย (Thailand One Health University Network: THOHUN) ก่อตั้งเมื่อปี 2555 โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสัตวแพทยศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อนเพิ่มสมาชิกเป็น 44 คณะ จาก 14 มหาวิทยาลัย ในปี 2560 พร้อมกับตั้งศูนย์ประสานงานเครือข่ายฯ เพื่อติดต่อประสานงานระหว่างสมาชิก และดำเนินงานเพื่อส่งเสริมแนวคิดและวิธีการด้านสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) และดำเนินการเพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขา เพื่อแก้ปัญหาทางด้านสาธารณสุขและปัญหาอื่น ๆ ที่ซับซ้อน ซึ่งเครือข่ายของเรามีนักวิชาการที่มีความรู้อันเกิดจากการวิจัย และมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านการแพทย์ สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม การศึกษา และด้านเศรษฐศาสตร์ ดังนั้น การเกิดปัญหาโรคระบาดที่เกี่ยวข้องกับด้านสาธารณสุข เช่น โควิด-19 ก็จะประสานงานไปยังแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมแก้ปัญหาหรือรับมือกับโรคระบาด เรียกง่าย ๆ ว่าเป็นการระดมสรรพกำลัง ซึ่งนอกเหนือจากการรับมือเมื่อเกิดโรคขึ้นแล้ว ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขาโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสุขภาพสิ่งแวดล้อม จะมีการกำหนดความรู้ หรือทักษะที่จำเป็น สำหรับผู้ปฏิบัติงานทางด้านสาธารณสุข หรือประชาชนล่วงหน้า เพื่อเตรียมความพร้อมกำลังคนให้สามารถเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคระบาดแพร่ขยายออกไปได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด”
รศ.ดร. แสงเดือน ยังเล่าถึงบทบาทหรือภารกิจของ THOHUN ในการรับมือกับโรคโควิด-19 ว่า “ก่อนการระบาดของ โควิด-19 ประมาณ 10 ปี เครือข่ายฯ ได้มีโอกาสรับทุนสนับสนุนจากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ให้เตรียมความพร้อมด้านศักยภาพของบุคลากรเพื่อการรับมือโรคระบาด ดังนั้น ตั้งแต่เริ่มแพร่ระบาดของโควิด-19 ในครั้งแรกทำให้บุคลากร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญสหสาขาสามารถร่วมมือแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและ มีประสิทธิภาพทันที นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญสหสาขาของเครือข่ายฯ ได้รับเชิญจากกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานภาครัฐหลายแห่ง ให้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้แนวทางและให้ความรู้ในการรับมือกับโรคโควิด-19 เช่น โรคมีการแพร่ระบาดแบบใหม่หรือไม่ หน่วยงานจะต้องรับมืออย่างไร เพราะโควิด-19 คือโรคอุบัติใหม่ มีกลไกการแพร่ระบาดที่แตกต่างไปจากเชื้อไวรัสตัวอื่น นอกจากนี้ ยังได้จับมือกับแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญที่ให้การสนับสนุนชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หน้ากาก N95 และ Face shield จำนวน 5,000 ชุด พร้อมผลิตสื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 และสาธิตใส่อุปกรณ์ป้องกันตนเองของบุคลากรทางแพทย์ในโรงพยาบาลระดับภูมิภาค ตลอดจนอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้ปฏิบัติงานในชุมชนกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งมีความร่วมมือกับสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกุมารแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ในการสื่อสารสาธารณะเพื่อให้ความรู้ ข้อมูลที่ถูกต้อง และสร้างความมั่นใจในวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA แก่เด็ก และกลุ่มเสี่ยงอีกด้วย”
“แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในปัจจุบันเริ่มลดลง ผู้คนทั่วโลกรวมถึงสังคมไทยกลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ แต่เชื้อไวรัสตัวนี้ก็ยังคงมีอยู่ในโลก ประชาชนกลุ่มเสี่ยงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ซึ่งมีหลายชนิด อาจทำให้สับสนหรือบางคนก็ไม่เข้าใจว่าทำไมยังต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ที่สำคัญยังมีการแชร์ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนผ่านสื่อโซเชียลอย่างแพร่หลาย ทาง THOHUN ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค ภายใต้การสนับสนุนของ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด วางแผนการทำงานให้ความรู้กับบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ ภายใต้หัวข้อ THOHUN ผนึกกำลังป้องกันโควิด-19 ผ่านการสัมมนาวิชาการของแพทย์และพยาบาล “ความสำคัญ และความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์การให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19” ในวันที่ 6 กันยายน 2566 ระหว่างเวลา 12:00 – 13:00 น. โดยเน้นการให้ความรู้ที่ทันสมัยเกี่ยวกับชนิด และความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 รวมถึงเตรียมสื่อสารข้อเท็จจริงเพิ่มเติมด้านความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19 และเสริมสร้างความตระหนักถึงการป้องกันโรคด้วยวัคซีนอย่างถูกต้องให้แก่ประชาชนอีกด้วย” ในส่วนของการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา รศ.ดร. แสงเดือน ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่ามีการบริหารจัดการการระบาดของโรคได้ดีกว่าหลายประเทศ จำนวนวัคซีนก็เพียงพอต่อประชากรด้วยความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ เป็นการระดมทุกสรรพกำลัง นอกเหนือไปจากหน่วยงานสาธารณสุขภาครัฐ อีกส่วนหนึ่ง น่าจะมาจากการปลูกฝังแนวคิดทางสุขภาพหนึ่งเดียวในการทำงาน และเตรียมพร้อมกำลังคนล่วงหน้า นั่นเอง”
“นอกจากความร่วมมือด้านโควิด-19 กับ บริษัท ไฟเซอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตยาและวัคซีนชั้นนำของโลกแล้ว ยังมีความร่วมมือที่สำคัญอีกด้านคือ การแก้ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพ (Antimicrobial resistance: AMR) ซึ่งในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาทั่วโลกจำนวนไม่น้อยอีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น ด้วยความที่ THOHUN เป็นแหล่งรวมผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ รวมถึงสาขาเภสัชวิทยา จึงได้เชิญนักวิชาการจาก 14 มหาวิทยาลัยสมาชิก มาหารือร่วมกัน และจัดทำหลักสูตรเกี่ยวกับ AMR ที่เหมาะสมกับ นิสิตนักศึกษา อาสาสมัครสาธารณสุข และอาสาปศุสัตว์ เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อให้กับคนในชุมชนที่มักจะซื้อยาตามร้านขายยาทั่วไป รวมถึงอาจมีการกินยาอย่างไม่ถูกวิธี ส่งผลให้มีโอกาสดื้อยาได้”
“สำหรับเป้าหมายหรือการทำงานต่อจากนี้ THOHUN ยังคงทำหน้าที่หลักคือ การพัฒนาศักยภาพของกำลังคนต่อไป โดยเฉพาะในด้านทักษะ Critical Thinking หรือความสามารถในการคิดและตัดสินใจในสิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยเหตุผล หลักฐาน หรือข้อสนับสนุน ทักษะการสื่อสารและการประสานงาน นั้นมีความสำคัญมาก เพราะบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นในการรับมือกับโรคระบาดใหม่ ๆ และทักษะการแก้ปัญหา เพราะเราไม่สามารถคาดเดาได้ถึงภัยพิบัติทางด้านสุขภาพที่จะเกิดในอนาคตได้ ดังนั้น THOHUN จำเป็นต้องอัปเดตความรู้ และทักษะที่จำเป็น และเตรียมบุคลากรหรือนิสิตนักศึกษาของเราให้พร้อม เวลานี้มีบางโครงการที่ THOHUN เริ่มทำในระดับชุมชนแล้ว เช่น อบรมอาสาสมัครสาธารณสุข แล้วก็ไม่ได้ทำร่วมกับหน่วยงานภายใต้กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น แต่ยังมีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ต้องการเรียนรู้วิธีการรับมือกับ โรคระบาดเช่นกัน และหากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ เล็งเห็นถึงประโยชน์ของงาน ต่าง ๆ ที่ THOHUN ทำอยู่แล้วนั้น ก็สามารถนำไปขยายต่อยอดได้ หรืออาจจะให้เราไปร่วมพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในหน่วยงาน หรือผนึกกำลังในการทำงานร่วมกัน ตรงนี้เป็นอีกหนึ่งในเป้าหมายสูงสุดที่เครือข่ายมหาวิทยาลัยสุขภาพหนึ่งเดียวแห่งประเทศไทยตั้งใจไว้” รศ.ดร. แสงเดือน กล่าวปิดท้าย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น