ที่ปรึกษาการลงทุน เป็นตัวแทนนักลงทุนรายย่อยเรียกร้องผู้บริหาร STARK เผยแนวทางแก้ไขวิกฤตภายในวันนี้ เพราะเป็นวันซื้อขายวันสุดท้าย หลังผู้บริหารประกาศจะใช้เวลาตัดสินใจถึงวันที่ 19 ก.ค. เหตุนักลงทุนรายย่อยต้องการข้อมูลที่ชัดเจนก่อนตัดสินใจในการซื้อขายภายในวันนี้ พร้อมวอน ตลท.ขยายเวลาขึ้น SP ออกไปถึง 19 ก.ค. เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยได้มีเวลาและมีข้อมูลเพียงพอต่อการตัดสินใจ
ดร.ณัฐวุฒิ รุ่งวงษ์ ประธานบริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน ต้นธารคอร์ปอเรชั่น กล่าวถึง การที่นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ รักษาการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK เสนอ 4 แนวทางในการแก้ไขวิกฤตของ STARK โดยจะใช้เวลาถึงวันที่ 19 กรกฎาคมนั้นเปรียบเสมือนเป็นการมัดมือมัดเท้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำคัญคือผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทมากกว่า 11,000 ราย เหมือนกำลังอยู่หลักประหาร เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์กำหนดให้ซื้อขายวันนี้ (30 มิ.ย.) เป็นวันสุดท้าย โดยที่มีข้อมูลที่ไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจสำคัญ และกระทบต่อการได้เสียมหาศาล
กล่าวคือหากคณะผู้บริหาร STARK เลือกแนวทางข้อ 3 คือ เพิ่มทุนจดทะเบียน ทัังจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือผู้ลงทุนใหม่ ก็สมควรต้องประกาศให้ชัดเจนอย่างช้าสุดในวันนี้ เช่น หากเพิ่มทุนให้ผู้ถือหุ้นเดิม กลุ่มนายวนรัชต์จะคงรักษาสัดส่วนเดิมหรือไม่ หรือหากขายรายใหม่ก็ต้องประกาศชัดเจนว่าเป็นใคร เช่น กลุ่ม TOA หรือพันธมิตร และได้เพิ่มทุนจนทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นกลับมาบวก มีเงินมาหมุนเวียนกิจการหรือไม่
“หากคำตอบชัดเจนในวันนี้ ผู้ถือหุ้นรายย่อย 11,000 ราย ก็อาจมีทางเลือกทนถือหุ้นเอาไว้ เพื่อให้กิจการฟื้นตัวกลับมา หุ้นในมือก็อาจจะกลับมามีมูลค่า แต่หากไม่มีคำตอบวันนี้ ต้องไปรอวันที่ 19 กรกฎาคม ไม่มีความชัดเจนใดๆ แล้วแนวทางเพิ่มทุนล้มเหลว ต้องไปสู่แนวทางต่อไปคือยื่นล้มละลาย หากผู้ถือหุ้นรายย่อยถือไว้ก็เสี่ยงกลายเป็นศูนย์”
แต่หากคณะผู้บริหารจะประกาศชัดเจนเลยในวันนี้ว่าจะเลือกทางล้มละลาย ทางผู้ถือหุ้นรายย่อยก็จะได้ตัดใจขายทิ้งไป แม้จะแทบไม่มีมูลค่าแล้ว และค่อยเดินหน้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายชดเชยกันต่อไป
“ผมจึงขอเสนอให้ผู้บริหาร STARK ประกาศให้ชัดเจนในวันนี้ หรือไม่ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็สมควรต้องยืดหยุ่นเวลากำหนดการซื้อขายก่อนจะแขวนป้าย SP ยาวออกไป อย่างน้อยถึงวันที่ 19 กรกฎาคม หรือทราบแนวทางเลือกที่ชัดเจนของผู้บริหาร STARK เนื่องจากในเวลานี้มีข้อมูลไม่เพียงพอ มีผลกระทบต่อการได้เสียมหาศาล กล่าวคือหากแนวทางเพิ่มทุนสำเร็จก็อาจมีโอกาสที่หุ้นจะกลับมาทีมูลค่าหลายหมื่นล้าน แต่หากล้มเหลว และเลือกหนทางล้มละลายก็อาจเสี่ยงกลายเป็นศูนย์”ดร ณัฐวุฒิให้สัมภาษณ์
อย่างไรก็ดีล่าสุดมีข่าวลือว่า ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องอาจจะพิจารณาแนวทางเลือกที่ 1 ,2 และ 4 เป็นหลัก กล่าวคือเจรจาแฮร์คัตลดยอดหนี้ให้เหลือต่ำที่สุด อาจชำระเพียงไม่เกิน 500 ล้านบาท จากนั้นอาจจะแยกส่วนโรงงาน หรือธุรกิจที่มีคุณภาพดีเช่น โรงงานผลิตสายไฟฟ้าเฟลส์ดอดจ์ ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท ขายออกไปในราคาเพียง 500 ล้านบาท แล้วก็มาตั้งนอมินีมารับซื้อไว้เองในราคาต่ำมาก หรือเหมือนกับได้ฟรี โดยอ้างว่าขายเพื่ิอเร่งชำระหนี้ จากนั้นก็ยื่น STARK ที่เหลือแต่โครงเข้าโหมดล้มละลาย ความเสียหายนับแสนล้าน ตกเป็นของผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้ และเจ้าหนี้สถาบันการเงิน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น