14 มิถุนายน 2566, กรุงเทพมหานคร – กระทรวงดิจิทัลฯ และ ดีป้า โดย สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย พร้อมเครือข่ายพันธมิตร ร่วมประกาศผลสำเร็จจากโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ยกระดับทักษะดิจิทัลและทักษะสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแก่ผู้เข้าร่วมโครงการฯ และเตรียมความพร้อมเยาวชนคนรุ่นใหม่
สู่การเป็น ‘นักดิจิทัลพัฒนาเมือง’ ก่อนนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็นระบบบริการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาของเมือง
ในแง่มุมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและ
เป็นรูปธรรม เผยช่วยกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาแผน Smart City มากกว่า 120 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยประเมินว่า
จะสามารถสร้างมูลค่าการลงทุนตามแผนฯ ได้กว่า 66,000 ล้านบาท
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นประธานในพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่นักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ กัปตันเมืองท้องถิ่น และผู้นำเมืองร่วมขับเคลื่อน
เมืองอัจฉริยะ ผลสำเร็จจาก “โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2” (The Smart City Ambassadors 2 (SCA#2)) โดยมี ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า คณะผู้บริหาร ผู้นำเมือง และหน่วยงานพันธมิตรร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียง
นายชัยวุฒิ กล่าวว่า โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่เป็นสิ่งที่ภาครัฐดำเนินการผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านกลไกการพัฒนาศักยภาพคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลและสามารถประยุกต์ใช้
ให้เกิดประโยชน์ พร้อมเป็นสะพานเชื่อมให้คนในพื้นที่สามารถเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลตอบโจทย์การดำเนินชีวิต พร้อมยกระดับบริการจากหน่วยงานท้องถิ่นผ่านโครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม
“โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ถือเป็นก้าวสำคัญที่จะผลักดันให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ กัปตันเมือง และผู้นำเมืองได้กลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตนเองด้วยความรู้ความสามารถด้านดิจิทัลและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับ อีกทั้งช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับภูมิภาคให้เกิดขึ้น เพื่อกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี เพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในทุกระดับ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ 446 คน จาก 170 หน่วยงาน 57 จังหวัดทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมา ผู้เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับ
การยกระดับทักษะดิจิทัลและทักษะสำคัญในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะจากวิทยากรและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา
เมืองอัจฉริยะ อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมเยาวชนคนรุ่นใหม่เพื่อก้าวสู่การเป็น ‘นักดิจิทัลพัฒนาเมือง’ ก่อนนำองค์ความรู้ที่ได้มาพัฒนาเป็นระบบบริการเมืองเพื่อแก้ไขปัญหาของเมืองในแง่มุมต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม
“โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 ยังสามารถขับเคลื่อนให้เกิดแผน Smart City ใหม่
126 พื้นที่ โดยได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะเพิ่มขึ้นกว่า 50 พื้นที่ ประเมินมูลค่าการลงทุนที่จะเกิดขึ้นตามแผนฯ กว่า 66,000 ล้านบาท พร้อมส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาโครงการนำร่องต่อยอดระบบบริการเมืองอัจฉริยะและเป็นนวัตกรรมต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่มากกว่า 10 พื้นที่ สามารถส่งต่อความรู้ความเข้าใจเรื่องการพัฒนาเมืองแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในหน่วยงาน
ที่ร่วมโครงการฯ จำนวน 5,813 คน อีกทั้งกระตุ้นให้เกิดความตระหนักรู้เรื่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะแก่ประชาชนในพื้นที่กว่า 10,000 คน ซึ่งถือเป็นการสร้างระบบนิเวศที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
น่าอยู่ และนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ต่อไป” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบโล่รางวัลและประกาศนียบัตรแก่โครงการที่มีความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ ในกิจกรรม SCA#2 Final Pitching 2023 โดยมี 3 โครงการชนะเลิศการนำเสนอโครงการนำร่องต่อยอดระบบบริการเมืองอัจฉริยะและเป็นนวัตกรรมต้นแบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่ได้รับรางวัล SCA#2 Award: BEST INITIATIVE SMART CITY PROJECT AWARD พร้อมรับทุนพัฒนาเมืองมูลค่ารวม 900,000 บาท ซึ่งทั้ง 3 โครงการถือเป็นโครงการที่มีศักยภาพ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาเมือง และในแผนการดำเนินงานมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อแก้ไขปัญหาของเมือง อีกทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างชัดเจน ประกอบด้วย
• โครงการแพลตฟอร์มสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility)
โดย บริษัท ร่วมพัฒนาเมือง จำกัด จังหวัดสตูล
สิ่งที่ทำ: พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลในรูปแบบ Mobile Web Application ที่ช่วยอำนวยความสะดวก
ในการให้บริการด้านการขนส่งสาธารณะ และเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ กระจายข่าว แจ้งเหตุ
ผลกระทบ: สร้างความเชื่อมั่น อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ
• โครงการพิพิธภัณฑ์มีชีวิต (Smart Economy และ Smart People)
โดย เทศบาลนครนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
สิ่งที่ทำ: นำเทคโนโลยีเรื่องภาพเสมือนจริง (AR) และสื่อสังคมออนไลน์มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการปฏิสัมพันธ์ และดึงดูดนักท่องเที่ยว
ผลกระทบ: กระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่
• ระบบบริหารจัดการงานสวัสดิการสังคม ตำบลอุโมงค์ (Smart Governance)
โดย เทศบาลตำบลอุโมงค์ จังหวัดลำพูน
สิ่งที่ทำ: ระบบบริหารจัดการงานสวัสดิการสังคมบนเว็บแอปพลิเคชัน รับเรื่องร้องเรียนและส่งคนเข้าไปจัดการปัญหา ทำให้ได้ข้อมูลเพื่อนำไปจัดการปัญหา
ผลกระทบ: มีระบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประชาชนได้รับความช่วยเหลืออย่างตรงจุด
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลในกิจกรรม SCA#2 Final Pitching 2023 ได้ที่เว็บไซต์ sca.depa.or.th และเฟซบุ๊กเพจ Smart City Thailand Office
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น