ตามที่กระผมได้รับหนังสือจากท่านนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอความร่วมมือระดับชาติเพื่อเอาชนะ
โควิด-19 ไปด้วยกันทั่วประเทศ ลงวันที่ 20 เมษายน 2563 ตามรายละเอียดแจ้งแล้วนั้น
กระผม นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้บริหารและเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ซึ่งดำเนินธุรกิจให้สินเชื่อแก่ลูกค้ารายย่อยโดยมีทะเบียนรถเป็นประกัน ตามใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมจำนวน 4,389 สาขา มีจำนวนพนักงานกว่า 10,000 คน และมีจำนวนลูกค้ากว่า 2.5 ล้านคน โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มลูกค้าประกอบอาชีพเกษตรกร พนักงานโรงงาน รับจ้างทั่วไป และผู้ที่ไม่มีรายได้ประจำ
ภายใต้สภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งได้แพร่ระบาดไปทั่วประเทศ กระผมตระหนักดีถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทฯ รวมถึงประชาชนทั่วไป ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทางบริษัทได้เริ่มดำเนินการช่วยเหลือประชาชนทั่วไปแล้ว ซึ่งสามารถแจกแจงได้ดังต่อไปนี้
1. สิ่งที่บริษัทได้ดำเนินการไปแล้ว
1.1 การให้ความร่วมมือกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการปฏิบัติตามแนวทางและมาตรการช่วยเหลือลูกค้า
กระผมและบริษัทฯ ได้เข้าร่วมหารือถึงแนวทางและมาตรการช่วยเหลือลูกค้ากับธนาคารแห่งประเทศไทย และได้เริ่มดำเนินการในการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ซึ่งมาตรการให้ความช่วยเหลือมีดังต่อไปนี้
1) มาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกค้า เป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนเมษายน เป็นต้นไป
2) มาตรการลดค่างวดลง ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 ของค่างวดปกติ เป็นระยะเวลา 6 เดือน ดำเนินการแล้ว
3) มาตรการลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ(ไม่มีหลักประกัน)สำหรับลูกค้าที่มีประวัติการชำระดีลง 6 เปอร์เซ็นต์ เป็นคิดดอกเบี้ยไม่เกิน 22 เปอร์เซ็นต์ โดยไม่ต้องลงทะเบียน ดำเนินการแล้ว
โดยมาตรการเหล่านี้จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระค่างวดดีเสมอมาที่ต้องแบกรับภาระ ค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระค่างวดในสภาวะวิกฤต ซึ่งขณะนี้ บริษัทฯ มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากผลกระทบดังกล่าวแล้ว 142,147 คน
1.2 การร่วมบริจาคเงินสมทบทุนเพื่อสู้โควิด-19 จำนวน 60 ล้านบาท
กระผมและครอบครัว ได้ร่วมบริจาคเงินสมทบทุนเพื่อนำไปจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น จำนวน 60 ล้านบาท ให้แก่โรงพยาบาลจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย
2.โรงพยาบาลศิริราช 3.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ 4.โรงพยาบาลรามาธิบดี 5.สถาบันบำราศนราดูร 6.โรงพยาบาลราชวิถี และ 7.โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โดยทำการส่งมอบเงินบริจาค เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ณ กระทรวงสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากมาตรการข้างต้นที่กระผมได้เริ่มดำเนินการไปแล้วนั้น ต่อมากระผมได้รับหนังสือจากท่านนายกรัฐมนตรี ขอให้กระผมดำเนินการช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาอันเนื่องมากจากสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มเติม กระผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากวิกฤตโควิด-19 จึงเสนอโครงการมาดังต่อไปนี้
2. โครงการที่บริษัทกำลังจะดำเนินการเพิ่มเติม
2.1 การจัดสรรและแจกจ่ายถุงยังชีพ จำนวน 200,000 ถุง มูลค่า 60 ล้านบาท
ประชาชนชาวไทยจำนวนมากต้องประสบกับปัญหาการว่างงานในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19ซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประชาชนจำนวนมาก ดังนั้น กระผมขอร่วมสมทบความช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาในการดำรงชีพ ด้วยการจัดสรรและแจกจ่ายถุงยังชีพ จำนวน 200,000 ถุง ซึ่งถุงยังชีพจะประกอบด้วย ข้าวสาร อาหารแห้งต่างๆ ได้แก่ น้ำปลา ปลากระป๋อง น้ำมันพืช บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จำนวน 200,000 ถุง มูลค่าถุงละ 300 บาท รวมเป็นเงิน 60 ล้านบาท โดยแบ่งถุงยังชีพมอบให้ดังนี้
2.1.1 มอบผ่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จำนวน 53,000 ถุง เพื่อนำไปมอบให้ประชาชนตามชุมชนต่างๆ จำนวน 600 ชุมชน ทั่วกรุงเทพมหานคร
2.1.2 มอบผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศนำไปมอบให้กับประชาชนที่เดือดร้อนตามรายชื่อจังหวัดดังต่อไปนี้
ลำดับ ชื่อจังหวัด จำนวน (ถุง) ลำดับ ชื่อจังหวัด จำนวน (ถุง) ลำดับ ชื่อจังหวัด จำนวน (ถุง)
1 กรุงเทพมหานคร 53,000 17 เพชรบุรี 2,000 33 สงขลา 3,000
2 ชลบุรี 4,000 18 อุบลราชธานี 2,000 34 ลำพูน 2,000
3 นครราชสีมา 2,000 19 ฉะเชิงเทรา 2,000 35 สิงห์บุรี 1,000
4 นครสวรรค์ 2,000 20 ชัยภูมิ 2,000 36 นครนายก 1,000
5 พระนครศรีอยุธยา 2,000 21 นครศรีธรรมราช 2,000 37 ตรัง 2,000
6 พิษณุโลก 2,000 22 ชัยนาท 2,000 38 อุตรดิตถ์ 2,000
7 กำแพงเพชร 2,000 23 สุราษฎร์ธานี 2,000 39 กระบี่ 3,000
8 สุพรรณบุรี 2,000 24 ปราจีนบุรี 2,000 40 พัทลุง 2,000
9 สระบุรี 2,000 25 ร้อยเอ็ด 2,000 41 หนองคาย 2,000
10 เพชรบูรณ์ 2,000 26 ตาก 2,000 42 นครพนม 2,000
11 ขอนแก่น 2,000 27 สมุทรสาคร 2,000 43 แพร่ 2,000
12 เชียงใหม่ 3,000 28 เลย 2,000 44 ตราด 1,000
13 บุรีรัมย์ 2,000 29 ภูเก็ต 3,000 45 พะเยา 2,000
14 นครปฐม 2,000 30 ลำปาง 2,000 46 ชุมพร 2,000
15 กาญจนบุรี 2,000 31 เชียงราย 2,000 47 สตูล 2,000
16 ระยอง 2,000 32 อุทัยธานี 2,000 48 ยโสธร 2,000
49 พิจิตร 2,000 58 กาฬสินธุ์ 2,000 67 สมุทรสงคราม 1,000
50 ราชบุรี 2,000 59 อ่างทอง 1,000 68 พังงา 1,000
51 อุดรธานี 2,000 60 นนทบุรี 3,000 69 บึงกาฬ 2,000
52 ลพบุรี 2,000 61 สกลนคร 2,000 70 น่าน 2,000
53 สมุทรปราการ 3,000 62 มหาสารคาม 2,000 71 มุกดาหาร 2,000
54 ปทุมธานี 3,000 63 สระแก้ว 2,000 72 อำนาจเจริญ 2,000
55 สุโขทัย 2,000 64 ศรีสะเกษ 2,000 73 ระนอง 1,000
56 สุรินทร์ 2,000 65 จันทบุรี 2,000 74 แม่ฮ่องสอน 1,000
57 ประจวบคีรีขันธ์ 2,000 66 หนองบัวลำภู 2,000 รวมทั้งสิ้น 200,000 ถุง
โดยประสานกับ บริษัท บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) (ห้างสรรพสินค้า Big C) เพื่อกำหนดวัน, เวลา และสถานที่ในการส่งมอบถุงยังชีพต่อไป โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จและส่งมอบได้ภายในไม่เกินวันที่ 25 พฤษภาคม 2563
2.2 การบริจาคเงินให้กับโรงพยาบาลในจังหวัดสุโขทัย ผ่านสาธารณสุขจังหวัดจำนวน
50 ล้านบาท
จังหวัดสุโขทัย แต่เดิม ประสบกับปัญหาขาดแคลนทั้งอาคารสถานที่ เครื่องมือ เวชภัณฑ์และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับผู้ป่วยอยู่แล้ว ยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ความขาดแคลนดังกล่าวยิ่งทวีความรุนแรง ดังนั้น กระผมจึงขอมอบเงินบริจาคให้กับโรงพยาบาลในสังกัดจังหวัดสุโขทัยรวมถึงสถานีอนามัย ผ่านสาธารณสุขจังหวัด เพื่อนำไปใช้ซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อสู้กับโควิด-19 รวมไปถึงใช้สำหรับสร้างอาคารผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลอำเภอบ้านด่านลานหอย รวมเป็นเงิน มูลค่า 50 ล้านบาท โดยกำหนดมอบผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายในไม่เกินวันที่
25 พฤษภาคม 2563
2.3 การเปิดพื้นที่อาคารสำนักงานสาขาทุกแห่งของบริษัทฯ ให้เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตร และ OTOP
ที่ทำการบริษัทมีรูปแบบเป็นอาคารพาณิชย์ขนาด 1 คูหา, 2 คูหา และ 3 คูหา ตามขนาดของธุรกิจ โดยหน้าอาคารเป็นพื้นที่ว่างเปล่า บริษัทฯ พร้อมเปิดพื้นที่หน้าอาคารสำนักงานสาขาของบริษัทฯ ซึ่งมีจำนวน 4,389 แห่ง ซึ่งอยู่ในย่านชุมชนทั่วประเทศ ให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนสามารถนำสินค้าเกษตร หรือผลิตภัณฑ์ OTOP มาวางจำหน่ายที่หน้าสำนักงานสาขาได้ ผู้ที่มีความประสงค์สามารถแจ้งความจำนงค์ผ่านสาขาได้ทันที
2.4 การเป็นศูนย์การกระจายความช่วยเหลือให้แก่ประชาชน
กระผมมีความยินดีและเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง ในการให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในทุกด้านด้วยการใช้เครือข่ายสาขาของบริษัทฯ ทั้ง 4,389 สาขา ที่กระจายในแหล่งชุมชนทั่วประเทศ และมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร และระบบการจัดการที่เป็นมาตรฐาน สามารถเป็นช่องทางการกระจายการเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐและเอกชนต่างๆ ให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งจะทำให้การกระจายความช่วยเหลือของรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
2.5 นโยบายการจ้างงาน และความปลอดภัยสำหรับพนักงาน
นอกจากนโยบายหลักดังกล่าว กระผมขอยืนยันในนโยบายการรักษาการจ้างงานและดูแลความปลอดภัยของพนักงานกว่า 10,000 คนของบริษัทฯ ให้สามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย รวมถึงได้รับสวัสดิการที่สมควรได้อย่างครบถ้วน พร้อมทั้งการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่พนักงานและครอบครัวได้มั่นใจว่า บริษัทฯ จะไม่ทอดทิ้งพนักงาน โดยบริษัทไม่มีนโยบายลดจำนวนพนักงาน ลดชั่วโมงทำงานหรือเลิกจ้างพนักงานแต่อย่างใด แต่ในทางกลับกัน บริษัทมีนโยบายรับพนักงานเพิ่มขึ้นอีก จำนวน 1,000 คน เพื่อรองรับการเปิดสาขาในอนาคต
3. ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม
นอกเหนือจากมาตรการดังกล่าวข้างต้นซึ่งเป็นนโยบายเชิงจุลภาคในการช่วยเหลือประชาชนแล้ว กระผมขออนุญาตนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงมหาภาคว่าด้วยนโยบายของทางภาครัฐในการจัดตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของตราสารหนี้ภาคเอกชน: Corporate Stabilization Fund (BSF) เพื่ออุ้มตลาดตราสารหนี้โดยการรับซื้อตราสารหนี้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในกลุ่มน่าลงทุน (Investment Grade) ที่ถึงกำหนดไถ่ถอน ทั้งนี้ กระผมมีความเห็นว่า ผู้ออกตราสารหนี้ในกลุ่มดังกล่าวอาจไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดตราสารหนี้อย่างรุนแรงเท่ากับผู้ออกตราสารหนี้ในกลุ่มที่ต่ำกว่าระดับ Investment Grade ซึ่งในที่นี้รวมทั้งตราสารหนี้ที่ถูกปรับลดระดับความน่าเชื่อถือลงมาจากระดับ Investment Grade ด้วย ซึ่งหากตราสารหนี้กลุ่มดังกล่าวเกิดการผิดนัดชำระหนี้ จะก่อให้เกิดความผันผวนที่แท้จริงในตลาดตราสารหนี้ อันส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของสถาบันการเงินและประเทศต่อไป จึงขอให้กองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของตราสารหนี้ภาคเอกชน: Corporate Stabilization Fund (BSF) ที่จัดตั้งขึ้นนั้นให้การช่วยเหลือครอบคลุมถึงผู้ออกตราสารหนี้ที่ต่ำกว่าระดับ Investment Grade ด้วย
กระผมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ด้วยทรัพยากรและศักยภาพที่กระผมและบริษัทฯมีในปัจจุบันจะสามารถช่วยเหลือภาครัฐในการแก้ไขปัญหาด้านความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประเทศไทย และประชาชนชาวไทยผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดทราบและพิจารณาต่อไป
วันอังคารที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
Home
Financial Line
“ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” บิ๊กบอส MTC เขียนตอบนายกฯร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19
“ชูชาติ เพ็ชรอำไพ” บิ๊กบอส MTC เขียนตอบนายกฯร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการนำพาประเทศไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19
Tags
# Financial Line
Share This
About kittapol nopakaosangnimit
Financial Line
ป้ายกำกับ:
Financial Line
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น